สมาร์ทโฟนที่รองรับการประมวลผลแบบ 64 บิต หลายคนอาจได้ยินมาบ้างแล้ว แต่อาจสงสัยในหลายด้านว่า สมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต มีดีอย่างไร ทำไมต้องหันมาใช้สมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต แล้วดีกว่าสมาร์ทโฟนที่เป็นแบบ 32 บิต อย่างไร ซึ่งข้อดีของสมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต ก็มีอยู่มาก ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่สมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่น เริ่มหันมาใช้ชิปการประมวลผลแบบ 64 บิต กันมากขึ้น ดังนั้นบทความนี้จะขอเสนอเหตุผลหลักๆ 6 ประการ ที่ควรใช้งานสมาร์ทโฟน 64 บิต ในอนาคตอันใกล้
1.สมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต มีการทำงานในด้านต่างๆ ที่ดีกว่า 32 บิต
ด้วยการทำงานของสถาปัตยกรรมของซีพียู ARMv7 เป็นการรองรับเฉพาะการทำงานในรูปแบบ 32 บิต เท่านั้น จนกระทั่งบริษัท ARM ซึ่งได้เปิดตัวสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ คือ ARMv8 ซึ่งรองรับการทำงานในรูปแบบ 64 บิต และมีการนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าสมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต จะมีการประมวลผลในด้านต่างๆ ของสมาร์ทโฟนจะทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลด้านกราฟิก, ความลื่นไหลในการตอบสนองของแอปพลิเคชันเพิ่มความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. ชิป 64 บิต รองรับหน่วยความจำ RAM ได้มากขึ้น
ชิปประมวลผลแบบ 64 บิต สามารถรองรับหน่วยความจำ RAM ได้เพิ่มมากขึ้น โดยแต่เดิมชิปประมวลผล 32 บิต จะรองรับหน่วยความจำ RAM ได้สูงสุดเพียง 4 GB เท่านั้น แต่สำหรับชิป 64 บิต จะรองรับหน่วยความจำ RAM ได้มากกว่า 4 GB ในอนาคตคาดว่าจะมีสมาร์ทโฟนที่มี RAM มากกว่า 4 GB อีกด้วย
ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชิป 64 บิต แต่ความจริงแล้ว โลกแห่งสมาร์ทโฟนหมุนก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าที่คิด อีกทั้งสมาร์ทโฟนไม่ได้เป็นเพียงแค่มือถือธรรมดาอีกต่อไป เพราะด้วยความสามารถต่างๆ เช่นการภาพ HDR, การถ่ายวิดีโอความละเอียด 4K, การใช้งานเบราว์เซอร์ รวมถึงการประมวลผลในด้านต่างๆ ก็ต้องใช้หน่วยความจำ RAM ทั้งนั้น ดังนั้นแล้ว RAM ยิ่งมาก ก็ต้องใช้ ชิป 64 บิต ไปโดยปริยาย
3. สมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต ทำให้ประมวลผลแอปพลิเคชันได้เร็วมากขึ้น
โดยถ้าใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิตแล้วล่ะก็ จะให้ประสิทธิภาพจากการใช้แอปพลิเคชันดียิ่งขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งบนระบบปฏิบัติการ Android Lollipop 5.0 รองรับการประมวลผลด้วยชิป 64 บิตแล้ว แต่แอปพลิเคชันใน Play Store บางส่วนในปัจจุบันยังไม่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต แต่คาดว่าในไม่ช้า เหล่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหลายคงมีการพัฒนาใช้รองรับชิป 64 บิต มากยิ่งขึ้น เป็นเพราะว่าสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ที่ออกมาในตลาด เริ่มรองรับชิปแบบ 64 บิต มากขึ้นเรื่อยๆ
4. สมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต ประหยัดพลังงานและปลอดภัยมากกว่าเดิม
สมาร์ทโฟนที่รองรับการประมวลผลแบบ 64 บิต ประมวลผลได้รวดเร็วกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อประมวลผลได้รวดเร็ว จึงใช้ระยะเวลาในการประมวลผลที่สั้นลง จึงเป็นเหตุสามารถที่ทำให้ประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานน้อยลง
ส่วนด้านความปลอดภัยนั้น สมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต รองรับอัลกอริทึมของโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยได้ซับซ้อนกว่า จึงทำให้สมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
5. ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ๆ ให้ความสนใจกับ 64 บิตมากขึ้น
ตั้งแต่ Apple เปิดตัว iPhone 5S และ iOS 7 ที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต ได้ภายในปี 2013 ในปีต่อมา Google ก็ได้เปิดตัว Nexus 9 และระบบปฏิบัติการ Android 5.0 Lollipop ที่รองรับการทำงาน 64 บิต เช่นกัน เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกแห่งสมาร์ทโฟน ผู้ผลิตชิป รายใหญ่ๆ อย่าง NVIDIA, ARM, Qualcomm, Intel, Mediatek และ Samsung ได้หันมาผลิตชิป 64 บิต กันมากขึ้น
6. หลีกเลี่ยงการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบ 64 บิต ได้ยาก
ของใหม่ย่อมมาแทนที่ของเก่าเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมากจากข้อที่ 5 ยิ่งมีผู้ผลิตชิปรองรับการทำงาน 64 บิตมากขึ้น ก็จะทำให้ในอนาคตมีสมาร์ทโฟน Android หลายรุ่นที่ใช้ชิปประมวลผลแบบ 64 บิต จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเรือธง หรือรุ่นระดับล่างก็ตาม
ตั้งแต่ iPhone 5S ใช้ชิปการทำงานแบบ 64 บิต จึงทำให้โลกแห่งสมาร์ทโฟนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยทางสมาร์ทโฟนหลายค่ายหลายรุ่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ต่างมีแนวโน้มที่จะผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิป 64 บิต มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 มีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นที่ใช้ชิป 64 บิต เช่น Apple iPhone 6,iPhone 6 Plus, Samsung Galaxy S6, Samsung Galaxy S6 edge, Samsung Galaxy A7, Samsung Galaxy A5, OPPO R5, Asus ZenFone 2 ฯลฯ
อีกทั้งตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ Android 5.0 Lollipop เป็นต้นมา ก็รองรับการทำงานแบบ 64 บิต ได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้สมาร์ทโฟน 64 บิต มีบทบาทและความสำคัญในโลกแห่งเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น
* แนะนำ ดูเวอร์ชันสำหรับเว็บ คลิกด้านล่าง